วันพุธที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2558

พระไวโรจนพุทธะ



พระไวโรจนพุทธะ
พระไวโรจนพุทธะ เป็นพระธยานิพุทธะ 1 ใน 5 องค์ ของนิกายวัชรยาน
ทรงเป็นประธานของพระพุทธะทั้ง 5
พระไวโรจนพุทธะ หมายถึง ปัญญาอันสูงสุด
ตราประจำพระองค์เป็นธรรมจักร หมายถึง ความเป็นหนึ่ง
พระกายเป็นแสงสว่าง มักแทนด้วยสีขาว
ตำแหน่งในพุทธมณฑลจะอยู่ตรงกลางโดยมีพุทธะอีก 4 องค์ห้อมล้อม
พระโพธิสัตว์ในกลุ่มของท่านที่สำคัญมี 2 องค์ คือ
พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ และ
พระมัญชุศรีโพธิสัตว์
พระองค์ได้รับการเคารพนับถือจากชาวพุทธทั้งในตะวันออกไกล เนปาล ทิเบต และชวา
ชาวพุทธจำนวนมากยกย่องให้เป็นอาทิพุทธะหรือพระพุทธเจ้าองค์ปฐม ความเชื่อเกี่ยวกับพระไวโรนะพุทธะปรากฏตั้งแต่ครั้งยุคมหายานและจรยาตันตระ พระสูตรที่กล่าวถึงพระองค์มีหลายฉบับเช่น
◎ มหาไวโรจนสูตร ยกให้พระองค์เป็นศูนย์กลางมณฑล เป็นตัวแทนของความจริงสากล
◎ อวตังสกสูตร ที่มีรากฐานมาจากคัณวยูหสูตรและทศภูมิกสูตร กล่าว่าพระไวโรจนะพุทธะเป็นพระพุทธเจ้าในโลกแห่งแสงสว่าง เหมาะกับผู้ที่ต้องการความหลุดพ้นในปัจจุบัน
ในคัมภีร์มรณศาสตร์ของทิเบตกล่าวว่าพระองค์จะปรากฏตัวในวันแรกของบาร์โดพร้อมกับแสงสีคราม
สีประจำพระองค์
พระไวโรจนะมีพระกายสีขาว รัศมีธรรมเป็นสีน้ำเงินอ่อน
ในทางวัชรยานถือว่าสีน้ำเงินเป็นสีของความจริงปรมัตถ์
ส่วนสีขาวเป็นที่รวมของสีทั้งหมด เหมือนแสงขาวจากดวงอาทิตย์ที่มองผ่านแท่งแก้วปริซึมจะเห็นเป็นสีต่างๆ 7 สี ซึ่งแทนความหมายของการเป็นประมุขแห่งพระธยานิพุทธะ
ธาตุประจำพระองค์
พระไวโรจนะเป็นตัวแทนของอากาศธาตุ ซึ่งเป็นช่องว่างในจักรวาลที่ต่างจากธาตุลม เป็นตัวแทนของเอกภาพที่รวมทุกสิ่งทุกอย่างเข้าด้วยกัน
ศักติหรืออิตถีภาวะ
อิตถีภาวะของพระไวโรจนะพุทธะ คือ วัชรธาตุวิศวรี (ท่านหญิงแห่งปัญญาธาตุ) หรืออากาศธาตุวิศวรี (ท่านหญิงผู้ยิ่งใหญ่แห่งอากาศอันไร้ขอบเขต) เป็นบุคลาธิษฐานของปัญญาญาณ ที่สะท้อนให้เห็นจักรวาลภายใต้พระบารมีธรรมของพระไวโรจนะมีสัญลักษณ์เป็นรูปสามเหลี่ยมหรือเปลวไฟ กายสีขาว อยู่ในท่าแสดงธรรม
ท่าทาง
ท่าทางประจำพระองค์ คือ ธรรมจักรมุทรา เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงการหมุนกงล้อธรรมครั้งแรกต่อหน้าปัญจวัคคีย์ทั้งห้า รูปแบบอื่นๆของพระไวโรจนะคือทำท่าสมาธิคล้ายพระอมิตาภะพุทธะแต่จะถือธรรมจักรแทนดอกบัว
เสียง
เสียงประจำพระองค์คือเสียง “โอม” ซึ่งเกิดจากศูนย์ลมบริเวณศีรษะ ในศาสนาพุทธ เสียงนี้หมายถึงความว่าง ในศาสนาฮินดู ใช้เป็นเสียงที่ดึงจิตให้เกิดสมาธิ เพื่อประสานเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาล
พาหนะ
พาหนะของพระไวโรจนพุทธะ คือ สิงโตเผือก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ ความกล้าหาญและความยิ่งใหญ่ สิงโตเผือกยังสื่อถึงสิงโตหิมะซึ่งเป็นสัตว์หายากในตำนานของทิเบต จึงเป็นตัวแทนของธรรมะขั้นสูงสุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น