วันพุธที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2558



เอกพุทธยาน การตรัสรู้อันสมบูรณ์ที่มีอยู่ในสรรพสัตว์
ตอน พระมัญชุศรีโพธิสัตว์
ข้าขออภิวาทวันทนาการ องค์สมเด็จพระบรมโลกุตราจารย์ อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ ผู้ทรางปลดเปลื้องอวิชชา เป็นผู้พร้อมด้วยวิชชาและจรณะ พาหมู่สัตว์ผู้ทุกข์ยากข้ามพ้นมหาสาครห้วงมหรรณพสู่พระนิพพานอันพระเสริฐ ฯ
ข้าขอบูชาพระปัญญาคุณแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระปัญญาญาณอันวิเศษที่บังเกิดขึ้น คือ องค์พระมัญชุศรีมหาโพธิสัตว์ พระองค์นั้น ผู้เป็นคุรุแห่งสรรพสัตว์ขอความสิ้นไปแห่งทุกข์ทั้งปวงพึงมีแก่สรรพชีวิต
พระมัญชุศรีโพธิสัตว์มหาสัตว์ ทรงเป็นโพธิสัตว์ผู้เป็นตัวแทนแห่งพระปัญญาธิคุณแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ คือ ปัญญาที่สามารถทำให้พ้นไปจากมายาทั้งปวง ข้ามพ้นโอฆะสงสารอันได้แก่ภพชาติได้
ก็สรรพกิเลสอันใดจองจำสรรพสัตว์ให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพภูมิต่าง ๆ เป็นเครื่องครอบงำกำบังพุทธภาวะ พระมัญชุศรีมหาสัตว์ทรงกำจัดเสียซึ่งพันธนาการทั้งปวง
ธรรมจักรมุทราแสดงให้เห็นว่า สรรพสิ่งล้วนเคลื่อนไปไม่อาจดำรงอยู่อย่างเดิม กอปรด้วยเห็ตุปัจจัยจึงไม่ควรยึดมั่นถือมั้นว่านั่นเป็นเรา เป็นของเรา นันเป็นเขา นั่นเป็นของเขา
ท่ามกลางการหมุนเวียนก็แสดงนัยยะแห่งศูนยตา
เพราะสรรพสิ่งล้วนเคลื่อนไปไม่อาจดำรงอยู่เองโดยปราศจากเหตุปัจจัยจึงเป็นศูนยตา
พระขรรค์ที่ลุกโชติช่วง หมายถึง ปัญญาที่จะสะบั้นสิ่งลวงตาทั้งมวล รวมถึง อายตนะทั้งหลาย
สิ่งที่ตา เห็น คือ รูป
สิ่งที่หู ได้ยิน คือ เสียง
สิ่งที่จมูก ได้สูดดม คือ กลิ่น
สิ่งที่ลิ้น ลิ้มรสสัมผัส คือ รส
สิ่งที่ถูกต้องกาย คือ สัมผัส
สิ่งที่ใจ รับรู้ คือ อารมณ์ปรุงแต่ง
รูปก็ไม่เที่ยงมิอาจยึดถือ ไม่อาจกำหนดสาระได้ เพราะรูปย่อมแปรเปลี่ยนไปตามเหตุและปัจจัยมากมาย
รูปไม่ใช่ตัวตน
รูปที่เห็นเป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นและดับไปเท่านั้น
เสียง กลิ่นรส สัมผัส ก็เช่นเดียวกัน
ตาที่ใช้มองก็เหมือนกัน ไม่เที่ยง ไม่อาจยึดถือ ไม่อาจครอบครองหรือบังคับบัญชาแก่เฒ่า ตาก้อฝ้าฟาง ไม่แจ่มใส ตายแล้วก็กลับคืนสู่ธาตุทั้งปวง
จมูก ลิ้นกาย ก็เป็นดังนี้ด้วย
ส่วนใจนั้นเล่า ยิ่งไม่เที่ยงแท้แปรเปลี่ยนตลอดเวลา ไม่อาจบังคับบัญชาให้เป็นสุขอยู่ตลอดไปได้ เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวรัก เดี๋ยวชัง เดี๋ยวพอ เดี๋ยวโกรธ เปรียบดังมายากล
สิ่งทั้งปวงจึงไม่ควรเข้าไปยึดถือปรุงแต่ง และนี่ก็คือ
ธรรมาวุธ อันโชติช่วงที่จะสะบั้นอุปาทานขันธ์ คือ ความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนให้สิ้นไป
เป็นศาตราวิเศษสุดในมหาตรีสหัสสโลกอนันตจักรวาล
เป็นศาสตราวุธแห่ง ปัญญาธิคุณ ที่สะบันภพชาติและทุกข์ทั้งปวง
ผู้ใดเข้าถึงธรรมาวุธอันศักดิ์สิทธิ์ ผู้นั้นย่อมลุถึงนิพพาน ได้
อันพระขรรค์นี้ต่างจากเทพอาวุธทั้งหลาย เทพศาสตราใด ๆ นั้นย่อมมีไว้ประหัตประหารผู้อื่น และมักประหารด้วยโทสะ มีไว้ทำลายชีวิต
แต่ธรรมาวุธแห่งองค์พระมัญชุศรีใช้ประหัสประหารอัตตา อหังการ (ความเชื่อว่ามีตัวตน) มมังการ (ความยึดมั่นในของตน) และมายาภาพลวงตาทั้งหลาย เพื่อเข้าถึงการุณยธรรมอันบริสุทธิ์ เป็นศาตราวุธที่ให้ชีวิตอย่างแท้จริง
ผู้ใดที่บูชาองค์พระมหาสัตว์ด้วยปัญญาย่อมเข้าถึงปัญญา
ผู้ใดบูชาองค์พระมหาสัตว์ด้วยมหากรุณา ย่อมเข้าถึงกรุณา
ผู้ใดบูชาองค์มหาสัตว์ด้วยธรรมย่อมเข้าถึงธรรม
บุคคลผู้นั้นแม้อยุ่ท่ามกลางมหาโจร ก็จักไม่เป็นอันตราย
อันมหาโจร คือ
โจรทางตา
โจรทางหู
โจรทางจมูก
โจรทางลิ้น
โจรทางกาย
โจรทางใจ
ทึ่คอยปรุงแต่ง
ให้ รัก
ให้ โกรธ
ให้ หลง
ให้ ยึดติด
เมื่อเข้าถึงแล้วว่าสภาพทั้งปวงเป็นศูนยตา ลักษณะทั้งปวงเป็นมายา
รูปแม้ปรากฏ
เสียงแม้ไพเราะ
จะทำอันตรายอย่างใดได้
และผู้นั้นจะไม่จมลงสู่ห้วงน้ำ คือ สงสารวัฏจักแห่งชาติภพ
สถิตอยู่ท่ามกลางนภากาศ ดุจดวงศศิธร คือ ความมั่นคงไม่ไหวหวั่นไปตามโลกธรรม อันได้แก่
มีลาภ เสื่อมลาภ
มียศ เสื่อมยศ
สุข ทุกข์
สรรเสริญ นินทา
ผู้นั้นย่อมเป็นอิสระจากมายาทั้งปวง
ดำรงอยู่ในสภาวะอันสมบูรณ์ที่ไม่มีอื่นใดมาเปรียบเทียบเคียงได้
นี้คือ ธารณีแห่งพระมหาสัตว์มัญชุศรี ผู้ทรงผลานุภาพด้วยปัญญา
โอม หมายถึง การกำเนิดแห่งสรรพสิ่งเพื่อเข้าสู่ธรรม
อา หมายถึง ธรรมดาแห่งศูนยตา
รา หมายถึง ความบริสุทธิ์จากการเกิดดับโดยสมบูรณ์
ปา หมายถึง บริบูรณ์ภาพแห่งการตรัสรู้
จา หมายถึง ในการลุถึงศูนยตาภาวะอันไม่มีการปฏิบัติเพื่อเข้าถึง
ณา หมายถึง ศูนยตาเป็นภาวะอันสมบูรณ์ยิ่งด้วยตัวเอง
ตี หมายถึง ปัญญาญาณ พาหนะ คือ ปัญญา อันลุแก่พระนฤพาน ฯ
ครั้งหนึ่ง คหบดีจีนท่านหนึ่ง ต้องการเลี้ยงพระทั้งวัดบนภูเขาอู่ไถ่
พระจึงชักชวนคนยากจนมารับทานด้วย
เพราะพระโพธิสัตต์มัญชุศรีมักจะสอนเน้นให้คนทั้งหลายมีความเสมอกัน ไม่แบ่งแยกระหว่างคนรวยกับคนจน ไม่แบ่งแยกระหว่างพระกับฆราวาส
ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงใคร่อยากรู้ใจมนุษย์
จึงจำแลงร่างเป็นหญิงขอทานที่กำลังตั้งครรภ์
คหบดีรำคาญใจมากที่เห็นชาวบ้านพวกนี้
เพราะตั้งใจมาทำบุญเลี้ยงพระเพียงอย่างเดียว
ครั้นมาถึงคิวหญิงขอทาน
นางบอกว่า ต้องการข้าว 2 จาน จานหนึ่งสำหรับตนเอง อีกจานหนึ่งสำหรับลูกในท้อง
เจ้าของงานไม่ยอม
นางจึงไม่ยอมกินอาหารนั้นและเดินออกจากวิหารไป กลายเป็นพระมัญชุศรีโพธิสัตต์เหาะขึ้นท้องฟ้าด้วยเทพบริวารตระการตา เป็นเหตุให้เจ้าของงานและทุกคนที่อยู่สถานที่นั้นก้มกราบขมาลาโทษต่อพระโพธิสัตต์กันถ้วนหน้า
ตั้งแต่นั้นมา ถือเป็นนโยบายของเขาอู่ไถ่ว่า
หากต้องการเลี้ยงพระก็ต้องทำทานต่อผู้ยากไร้ด้วย
พระโพธิสัตว์เปรียบดั่งดวงจันทร์ ที่ส่องส่างไม่เลือกชั้นวรรณะ จนหรือรวย เป็นคนหรือเป็นสัตว์ ดีหรือชั่ว ขอให้สรรพชีวิตจงมีกรุณาแก่กัน ขอพระสัทธรรมอันเปรียบประดุจดวงภานุมาศจงเจิดจ้าเหนือห้วงมหรรณพเป็นนิรันดร์เทอญฯ
ที่มา ;
http://www.sookjai.com/index.php?topic=3133.0

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น