ศาสนาพุทธไม่ห้ามการกินเนื้อสัตว์
แล้วฉะนั้นการกินเจ....ได้บุญจริงหรือ ?????
ช่วงนี้เป็นเทศกาลกินเจ ทุกครั้งที่ถึงเทศกาลกินเจมักจะมีคนสองฝั่งออกมาถกเถียงกันเสมอว่า กินเจได้บุญจริง หรือเป็นเพียงกระแสนิยม เราลองมาสืบสาวราวเรื่องกันดูว่าพระพุทธองค์ทรงสอนเรื่องนี้ไว้อย่างไร
ย้อนกลับไปในช่วงพรรษาที่ ๓๗ ที่พระพุทธองค์ทรงเผยแผ่พระศาสนา ครั้งนั้นพระเทวทัตได้กราบทูลพระศาสดาเสนอให้พระพุทธองค์ทรงเพิ่มวินัยสงฆ์ ๕ ข้อ คือ
๑. ให้ภิกษุอยู่ป่าตลอดชีวิต ภิกษุใดเข้าละแวกบ้านต้องมีโทษ
๒. ให้ภิกษุบิณฑบาตเป็นวัตรตลอดชีวิต ภิกษุใดรับนิมนต์ไปฉันตามบ้านต้องมีโทษ
๓. ให้ภิกษุใช้แต่ผ้าบังสุกุลตลอดชีวิต ภิกษุใดรับจีวรที่เขาถวายต้องมีโทษ
๔. ให้ภิกษุอยู่โคนไม้ตลอดชีวิต ภิกษุใดเข้าสู่ที่มุงต้องมีโทษ
๕. ให้ภิกษุงดฉันปลาและเนื้อตลอดชีวิต ภิกษุใดฉันต้องมีโทษ
พระผู้มีพระภาคสดับแล้วตรัสว่า "ดูก่อนเทวทัต ผู้ใดปรารถนาจะอยู่ป่าก็จงอยู่ป่า ผู้ใดปรารถนาจะอยู่ละแวกบ้านก็จงอยู่ในละแวกบ้าน ผู้ใดปรารถนาจะเที่ยวบิณฑบาตก็จงเที่ยวบิณฑบาต ผู้ใดปรารถนาจะรับนิมนต์ก็จงรับนิมนต์ ผู้ใดปรารถนาจะใช้ผ้าบังสกุล ก็จงใช้ผ้าบังสกุล ผู้ใดปรารถนาจะรับคฤหบดีจีวรก็จงรับคฤหบดีจีวร เราอนุญาตที่นอนที่นั่ง ณ โคนไม้ ตลอด ๘ เดือน ที่มิใช่ฤดูฝน เราอนุญาตเนื้อสัตว์ที่บริสุทธิ์โดยส่วน ๓ คือ เนื้อที่ไม่ได้เห็น เนื้อที่ไม่ได้ยิน เนื้อที่ไม่ได้รังเกียจ"
เนื้อสัตว์ ๓ อย่าง ที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาต ได้แก่
๑. เนื้อที่ไม่ได้เห็น คือ ไม่เห็นเขาฆ่าเนื้อนั้นเพื่อปรุงอาหารมาถวาย
๒. เนื้อที่ไม่ได้ยิน คือ ไม่ได้ยินเขาบอกกันว่าฆ่าเนื้อนั้นเพื่อปรุงอาหารมาถวาย
๓. เนื้อที่ไม่ได้รังเกียจ คือ ไม่เป็นเนื้อที่รู้ว่าเขาฆ่าเพื่อปรุงอาหารมาถวายโดยเฉพาะ
เว้นจากเนื้อ ๓ ชนิดนี้แล้ว ภิกษุสามารถฉันได้ ไม่มีโทษ สรุปว่าพระพุทธเจ้าไม่ทรงห้าม และไม่ตำหนิ เรื่องการกินเนื้อ แต่ก็ไม่ได้สรรเสริญด้วย จึงสรุปไม่ได้ว่าการงดบริโภคเนื้อสัตว์โดยการกินเจนั้นได้บุญ
กินเจ แม้ไม่ได้บุญแต่ก็ไม่บาป
กระต่าย หรือวัวควาย กินแต่หญ้า สัตว์เหล่านี้ได้บุญหรือเปล่า
ในบุญกิริยาวัตถุ ๓ บอกว่า บุญได้จาก การให้ทาน การรักษาศีล และการภาวนา ไม่ได้บอกเลยว่าบุญได้จากการไม่กินเนื้อสัตว์ แม้ขยายความเป็นบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ แล้วก็ยังไม่มีส่วนไหนบอกว่าการไม่กินเนื้อสัตว์แล้วจะได้บุญ
บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ได้แก่
๑. ทานมัย - ทำบุญด้วยการให้
๒. สีลมัย - ทำบุญด้วยการรักษาศีลและประพฤติดี
๓. ภาวนามัย - ทำบุญด้วยการเจริญภาวนา
๔. อปจายนมัย - ทำบุญด้วยการประพฤติอ่อนน้อม
๕. เวยยาวัจจมัย - ทำบุญด้วยการช่วยเหลือขวนขวายงานที่ควร
๖. ปัตติทานมัย - ทำบุญด้วยการแบ่งส่วนบุญให้ผู้อื่น
๗. ปัตตานุโมทนามัย - ทำบุญด้วยการอนุโมทนาการทำบุญของผู้อื่น
๘. ธัมมัสสวนมัย - ทำบุญด้วยการฟังธรรม
๙. ธัมมเทสนามัย - ทำบุญด้วยการสอนธรรม
๑๐. ทิฏฐุชุกัมม์ - ทำบุญด้วยการทำความเห็นให้ถูกให้ตรง
การกินเจไม่อยู่ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ดังนั้น กระต่าย หรือวัวควาย จึงไม่ได้บุญจากการกินหญ้า และมนุษย์ก็ไม่ได้บุญจากการกินเจด้วย
แต่การกินเจเป็นการงดการทำลายชีวิตสัตว์อื่นทั้งโดยตรงและโดยอ้อม แม้จะไม่ได้บุญเพิ่มขึ้น แต่ก็เป็นการไม่สร้างบาปเพิ่มขึ้นเหมือนกัน อย่างน้อยการกินเจก็ได้ประโยชน์จากตรงนี้
กินเจอย่างไรจึงได้บุญ
ไหนๆ ก็กินเจกันแล้ ว ตั้งใจอดรสดีรสอร่อยกันแล้ว ก็ควรจะหาวิธีว่าทำอย่างไรการกินเจจึงจะได้บุญ
๑. กินเจด้วยจิตเมตตา
ตั้งเจตนาว่าการที่เรากินเจนี้ เป็นเพราะเรามีเมตคาต่อเหล่าสัตว์ ไม่ปรารถนาเป็นผู้ปลงชีวิต หรือมีส่วนในการปลงชีวิตสัตว์อื่นเพื่อเป็นอาหารของเรา ด้วยเจตนาที่กอรปด้วยเมตตาอย่างนี้ทำให้การกินเจได้บุญ
๒. กินเจด้วยจิตต้องการละ
รสอร่อยเป็นกามคุณอารมณ์อย่างหนึ่ง ทำให้ติดสุข อาหารเจส่วนใหญ่รสไม่อร่อย เพราะเป็นรสที่ไม่คุ้นเคย ทำให้กินได้น้อย จึงควรคิดว่าการกินเจนั้นเรากำลังละความอยาก ทำลายความอยาก ความยึดติดในรสชาดของอาหาร เรากำลังทำลายความข้องอยู่ในกามคุณอารมณ์ เรากำลังหลีกหนีกามสุขัลลิกานุโยค ความสุขความพอใจในกาม เรากินเพียงต้องการบำรุงธาตุขันธ์ให้ดำรงอยู่ได้เท่านั้น เจตนาอย่างนี้ทำให้การกินเจได้บุญ
แต่หากใครกินเจแล้วยังเที่ยววิ่งหาอาหารเจรสอร่อย มีรูปร่างหน้าตาเหมือนเนื้อสัตว์จริงๆ อาหารเจร้านนี้ดี ย่านนั้นอร่อย จะกลายเป็นว่ากิเลสตัณหาเรื่องอาหารนั้นรุนแรงกว่าช่วงไม่กินเจเสียอีก เพราะปกติเวลากินอาหารคงไม่ค่อยเดือดร้อนกันเท่าไหร่ว่ารสชาดต้องเป็นอย่างนั้น หน้าตาอาหารต้องเป็นอย่างนี้ ต้องวิ่งไปกินกันแถวนี้ การกินเจอย่างนี้จึงไม่ได้บุญเลย
๓. พิจารณาอาหารเจเป็นอาหาเรปฏิกูลสัญญา
ในเมื่ออาหารก็ไม่อร่อยแล้ว ควรถือโอกาสนี้พิจารณาเสียเลยว่าอาหารเป็นเพียงปฏิกูล เป็นของน่ารังเกียจ ไม่สะอาด เป็นของโสโครก ไหลเข้า ต่อไปก็จะไหลออก ลองพิจารณาดูว่าเมื่ออาหารเข้าปากเคี้ยวแล้วคายออกมายังน่าดูน่ากินอยู่อีกไหม พิจารณาแล้วก็คลายความรู้สึกติดใจ อยากได้ อยากมี อยากกิน ออกเสีย การกินเจด้วยการพิจารณาเนืองๆ อย่างนี้จึงได้บุญ
๔. พิจารณาอาหารว่าเป็นเพียงแค่ธาตุ
ลองพิจารณาดูว่าอาหารเจไม่ใช่อะไรเลย เป็นเพียงธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม มาประชุมรวมกัน เหมือนกับร่างกายเรานี้ที่เป็นผู้บริโภคก็ประกอบไปด้วยธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม เหมือนกัน พิจารณาอย่างนี้จึงได้บุญ
๔. พิจารณาให้เท่าทันไตรลักษณ์
พิจารณาว่าอาหารทั้งหลายก่อนจะมาถึงเรา ข้าวก็เกิดจากต้น เป็นเม็ดเป็นรวง เขาเก็บมานวดมาขัดมาสีจึงกลายเป็นข้าวสาร นำมาต้มมาปรุงเป็นข้าวสวยข้าวสุก เรากินเข้าไปแล้วก็จะย่อยสลาย ขับถ่ายออกมาคืนสู่ดิน คืนสู่ธรรมที่เป็นจริง อาหารจึงเป็นของไม่เที่ยง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ชั่วคราว แล้วดับไป กายของเรานี้ก็เหมือนกันไม่เที่ยงเลย เกิดขึ้นมาแล้วตั้งอยู่ชั่วขณะ ในที่สุดก็จะดับสลายไป ขณะที่อยู่ก็มีแต่ทุกข์ ทุกข์เพราะอยากได้ อยากมี อยากเป็น จะห้ามไม่ให้ทุกข์ก็ไม่ได้ จะบังคับให้มีแต่สุขก็ไม่ได้ บังคับไม่ให้บุบสลายเจ็บป่วยล้มตายก็ไม่ได้ ร่างกายไม่อยู่ในบังคับของเราเลย เพราะกายนี้ไม่ใช่เรา กายนี้ไม่เป็นของเรา พิจารณาอย่างนี้จึงได้บุญ
๕. รักษาศีลภาวนา
การกินเจเป็นเทศกาลสั้นๆ ไหนๆ ก็พยายามละกิเลสด้วยการกินเจแล้ว ในเทศกาลอย่างนี้ควรถือโอกาสรักษาศีลให้เคร่งครัด และหัดภาวนากันเสียด้วย ถือโอกาสขัดเกลากิเลสและยกระดับภูมิจิตภูมิธรรมให้สูงขึ้น กินเจอย่างนี้จึงได้บุญ
ที่มาข้อมูล : http://www.dhamma4u.com/index.php/2011-01-07-08-29-00/41-2008-11-18-07-46-11/551-2009-10-19-04-11-33.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น