วันอาทิตย์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2561

ปัญหา คือ เราต้องอยู่กับสิ่งปรุงแต่ง

ปัญหา คือ เราต้องอยู่กับสิ่งปรุงแต่ง

มันปรุงแต่งเรา เราก็ปรุงแต่งสิ่งอื่นต่อไป , ภาระหนัก & ทุกข์ ก็เกิดขึ้น

การปรุงแต่ง คือ เมื่อสิ่ง ๒ อย่าง ถึงกัน ก็ปรุงแต่งกัน

เมื่อเหตุปัจจัยเป็นอย่างนี้ ผลก็เป็นอย่างนี้ , เมื่อเหตุปัจจัยเป็นอย่างอื่น ผลก็เป็นอย่างอื่น

เมื่อเหตุปัจจัยดับ ผลก็ดับ , เมื่อเหตุปัจจัยไม่มี ผลก็ไม่มี

การปรุง ผู้ปรุง ผู้ถูกปรุง เรียกว่า สังขาร เสมอกัน

จะดีหรือชั่ว เป็นสิ่งสมมุติ ตามความรู้สึก

เราโง่ต่อการปรุงแต่ง ก็ปรุงแต่งอย่างโง่ ๆ แล้วยึดถือความปรุงแต่ง ได้ผลเป็นทุกข์

แม้ปรุงอย่างไม่โง่ ก็เป็นภาระหนักอยู่เอง

ไม่ปรุง - ไม่ถูกปรุง - ไม่ยึดถือการปรุง จึงสงบ

ปรุงไปในทางดับ ดับการปรุง คือ ไม่ปรุง ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ไม่มีการยึดถือ ก็ไม่ทุกข์

ปรุงปัญญา ที่เป็นไปเพื่อดับ มีประโยชน์

หยุดปรุง - ไม่ยึดถือการปรุง - สิ่งปรุง มันก็อยู่เหนืออำนาจ อิทัปปัจยตา

โดยไม่ถือเอา อิทัปปัจยตา เป็น ตัวกู ของกู

..

พระอาจารย์พุทธทาสภิกขุ

..

ปล. ปรากฏการณ์ ทุกอย่าง , ชีวิต เป็นเพียงกระแส อิทัปปัจยตา

สังขารทั้งปวง เป็นกระแส & อาการ แห่ง อิทัปปัจยตา

วันพฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2561

ให้อยู่กับผู้ดู ให้ผู้ดูเด่น อย่าให้สิ่งที่ไปดูเด่น

" ให้อยู่กับผู้ดู ให้ผู้ดูเด่น อย่าให้สิ่งที่ไปดูเด่น "

อย่าไปวิตกวิจารณ์ใดๆ ให้แค่รู้ ทําแบบนี้จะพัฒนาการต่อไปเอง
เราไปทําให้เกิดต่อไม่ได้ มันจะเกิดต่อของมันเอง
จากความเคยชินที่ใจ
จะทําให้เราหมดผู้เข้าไปดู  หมดผู้เข้าไปกระทํา
จะเหลือแต่รู้ เป็นขณะๆ ไปกับปัจจุบัน

เห็นตรงนี้ได้ จะรู้ได้ด้วยใจตนเอง
หมดความลังเลสงสัย
ปัญญาจะเกิดจากการเจริญวิปัสสนา

วันเสาร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2561

การปฏิบัติกรรมฐานต้องใจเย็น

การปฏิบัติกรรมฐานต้องใจเย็น และใช้เวลาในการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ
อย่าทำบ้าง ไม่ทำบ้าง หรือทำๆหยุดๆ หรือได้ยินคนอื่นพูดถึงเรื่องแปลกๆเรองอัศจรรย์ทางจิต ทำให้หูผึ่ง และอยากปฏิบัติขึ้นมา เพราะอยากให้ตนเองมีประสบการณ์เช่นนั้นๆ บ้าง แล้วลงมือปฏิบัติ การปฏิบัติแบบนี้จะไม่ก้าวหน้า หรือจะทำให้ติดขัดกับการปฏิบัติ เพราะลงมือปฏิบัติด้วยความอยาก
     ใครที่ปฏิบัติแล้วรู้สึกว่าติดขัด ไม่ก้าวหน้า ให้หยุด วางใจให้เป็นกลางๆ และหันมาพิจารณาการปฏิบัติของตน เช่น พิจารณาเราปฏิบัติมากน้อยแค่ไหนต่อวัน ขณะปฏิบัติมีสติสัมปชัญญะต่อเนื่องหรือไม่มากน้อยเพียงใด ขณะปฏิบัติจิตมีความอยาก มีความยินดีพอใจใน รูป-เสียง-กลิ่น-รส-สัมผัส-ธรรมารมณ์ มีความพยาบาทลึกๆภายในหรือไม่ จิตอ่อนล้าง่วง เคลิ้ม หรือจิตวิตกฟุ้งซ่านขาดสติ หรือลังเลสงสัยในสภาวะธรรมสงสัยวิธีปฏิบัติหรือไม่
     ถ้าติดอยู่กับอันใดอันหนึ่งสิ่งใดสิ่งหนึ่ง วางใจเป็นอุเบกขาวางใจเป็นกลาง มีสติอยู่กับสภาวะปัจจุบัน พิจารณาเวทนา และธรรมที่เป็นข้าศึกหรือตรงข้ามกับสิ่งที่เราติดชัดนั้น
     การปฏิบัติก็จะก้าวหน้า ผ่านพ้นไปตามขั้นตามลำดับ ขอเป็นกำลังใจให้ผู้สนใจปฏิบัติทุกท่าน เพียรรักษาการปฏิบติต่อไปอย่างต่อเนื่อง
สาธุ เจริญพร ขอให้ทุกท่านมีความเจริญในธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป

วันศุกร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2561

บางคนเข้าใจว่าการนั่งนี้แหละเป็นสมาธิ

บางคนเข้าใจว่าการนั่งนี้แหละเป็นสมาธิ แต่ความเป็นจริง การยืน การเดิน การนั่ง การนอน ก็เป็นการปฏิบัติทั้งนั้น ทำสมาธิให้เกิดได้ทุกขณะ สมาธิหมายตรงเข้าไปว่า ความตั้งใจมั่น การทำสมาธิไม่ใช่การไปกักขังตัวไว้

บางคนก็เข้าใจว่า “ฉันจะต้องหาความสงบ จะไปนั่งไม่ให้มีเรื่องอะไรเกิดขึ้นเลย จะไปนั่งเงียบๆ” อันนั้นก็คนตาย ไม่ใช่คนเป็น

การทำสมาธิคือทำให้รู้ ทำให้เกิดปัญญา ทำให้มีปัญญา

สมาธิคือความตั้งใจมั่น มีอารมณ์อันเดียว

อารมณ์อันเดียวคืออารมณ์อะไร คืออารมณ์ที่ถูกต้อง นั้นแหละเรียกว่า "อารมณ์เดียว"

.
จากกัณฑ์เทศน์ น้ำไหลนิ่ง STILL, FLOWING WATER
หลวงปู่ชา สุภัทโท  Ajahn Chah

วันพฤหัสบดีที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2561

ทำยังไงถึงจะถึงฐาน

" ทำยังไงถึงจะถึงฐาน ... ทำไมต้องทำล่ะ เราไม่ได้ทำนะ
จิตจะถึงฐาน ไม่ถึงฐาน เราทำเองไม่ได้ จิตจะตั้งมั่น หรือไม่ตั้งมั่น ทำไม่ได้
ทำให้ตั้งมั่นก็ไม่ได้ ทำให้ถึงฐานก็ไม่ได้ ทำให้เห็นไตรลักษณ์ก็ไม่ได้

คำว่า *ทำ* เป็นคำแสลงเลยแหละ - ไม่ต้องคิดจะทำ
แค่คิดจะทำก็ผิดแล้ว นึกออกไหม
ทำไมเราต้องทำโน้น ทำนี่ ทำนั่นล่ะ หน้าที่เราแค่รู้กายรู้ใจ
รู้เพียงพอเมื่อไหร่ มันถึงฐานเองเมื่อนั้น
รู้เพียงพอเมื่อไหร่ จิตตั้งมั่นเองเมื่อนั้น
รู้เพียงพอเมื่อไหร่ ปัญญาเกิดเมื่อนั้น "

.
-- ฆราวาสธรรม อาจารย์สุรวัฒน์ เสรีวิวัฒนา คอร์สรู้กายรู้ใจ พื้นฐานสู่ความรู้แจ้ง วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๙

หลักสำคัญ ในการเรียนรู้ธรรม


หลักสำคัญ ในการเรียนรู้ธรรมนะ
คือการเปลี่ยนจากจิตที่หลงตลอดกาล
เป็นจิตที่ตั้งมั่น กระบวนการนั้นพระพุทธองค์
ได้ทรงตรัสไว้แล้วคือการสำรวมในทวารทั้งหลาย
การสำรวมคือไม่เพลิน รู้เท่าชอบไม่ชอบ
ที่เกิดขึ้นเพราะทวารนั้นๆ จิตไม่แส่ส่าย
คือไม่ดิ้นไปกับอารมณ์
จิตจะตื่นพร้อม ร่างกายก็ผ่อนคลายไม่เครียดเกร็ง

เมื่อดำเนินอยู่แบบมีความสุขเสมอจิตก็ไม่ซัดส่าย
ย่อมตั้งมั่น เมื่อจิตตั้งมั่นย่อมรู้เห็นธรรม
คือความเป็นเช่นนั้นเองซึ่งแสดงตัวอยู่ตลอดเวลา