วันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2558

จิตนี้เป็นพุทธะ

จิตนี้เป็นพุทธะ
ไม่มีความแตกต่างระหว่างพุทธะกับสัตว์โลกทั้งหลาย
โดย หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

จิตหนึ่งนี้เท่านั้นเป็นพุทธะ ไม่มีความแตกต่างระหว่างพุทธะกับสัตว์โลกทั้งหลาย เพียงแต่ว่าสัตว์โลกทั้งหลายไปยึดมั่นต่อรูปธรรมต่างๆ เสีย และเพราะเหตุนั้นเขาจึงแสวงหาพุทธภาวะจากภายนอก การแสวงหาของสัตว์เหล่านั้นนั่นเองทำให้เขาพลาดจากพุทธะ การทำเช่นนั้นเท่ากับการใช้สิ่งที่เป็นพุทธะให้เที่ยวแสวงหาพุทธะ และการใช้จิตให้เที่ยวจับฉวยจิต แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะพยายามจนสุดความสามารถของเขาอยู่ตั้งกัปหนึ่งเต็มๆ เขาก็จะไม่สามารถบรรลุถึงพุทธะได้เลย เขาไม่รู้ว่าเพียงแต่เขาหยุดความคิดปรุงแต่ง และหมดความกระวนกระวายเพราะการแสวงหาเสียเท่านั้น พุทธะก็จะปรากฏตรงหน้าเขา เพราะว่าจิตนี้คือพุทธะนั่นเองและพุทธะคือสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายทั้งปวงนั่นเอง สิ่งๆ นี้เมื่อปรากฏอยู่ที่สามัญสัตว์จะเป็นสิ่งเล็กน้อยก็หาไม่ และเมื่อปรากฎอยู่ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายจะเป็นสิ่งใหญ่หลวงก็หาไม่ สำหรับการบำเพ็ญปารมิตาทั้ง ๖ ก็ดี การบำเพ็ญข้อวัตรปฏิบัติที่คล้ายๆ กันอีกเป็นจำนวนมากก็ดี หรือการได้บุญมากมายนับไม่ถ้วน เหมือนจำนวนเม็ดทรายในแม่น้ำคงคาก็ดี เหล่านี้นั้นจงดูเถิดเมื่อเราผู้สมบูรณ์โดยสัจจะพื้นฐานในทุกกรณีอยู่แล้ว คือเป็นจิตหนึ่งหรือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพุทธะทั้งหลายอยู่แล้ว เราก็ไม่ควรจะพยายามจะเพิ่มเติมอะไรให้แก่สิ่งที่สมบูรณ์อยู่แล้วนั้น ด้วยการบำเพ็ญข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ ซึ่งไร้ความหมายเหล่านั้นไม่ใช่หรือ (ถึงแม้ว่าจะเคร่งครัดต่อการบำเพ็ญข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ ก็ตาม แต่จิตยังชอบปรุงแต่งอยู่ก็จัดว่าการบำเพ็ญข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ นั้นไร้ความหมาย) แต่เมื่อไหร่โอกาสอำนวยให้ก็ทำมันไป แต่อย่าไปยึดมั่นถือมั่นและเมื่อโอกาสผ่านไปแล้วอยู่เฉยๆ ก็แล้วกัน ถ้าเรายังไม่เห็นตระหนักอย่างเด็ดขาดลงไปว่าจิตนั้นคือพุทธะก็ดี และถ้าเรายังยึดมั่นถือมั่นต่อรูปธรรมต่างๆ อยู่ก็ดี ต่อวัตรปฏิบัติต่างๆอยู่ด้วยความยึดมั่นถือมั่นอยู่ก็ดี และต่อการบำเพ็ญกุศลต่างๆ ด้วยความยึดมั่นถือมั่นอยู่ก็ดี แนวความคิดของเราก็ยังคงผิดพลาดอยู่ จิตหนึ่งนั่นแหละคือพุทธะ ไม่มีพุทธะอื่นใดที่ไหนอีก ไม่มีจิตอื่นใดที่ไหนอีก มันแจ่มจ้าและไร้ตำหนิเช่นเดียวกับความว่าง คือมันไม่มีรูปร่างหรือปรากฎการณ์ใดๆ เลย ถ้าเราใช้จิตของเราให้ปรุงแต่งความคิดฝันต่างๆ นั้น เท่ากับเราทิ้งเนื้อหาอันเป็นสาระเสีย แล้วไปผูกพันตัวเองอยู่กับรูปธรรมซึ่งเป็นเหมือนกับเปลือก พุทธะที่มีอยู่ตลอดกาลนั้นไม่ใช่พุทธะแห่งความยึดมั่นถือมั่น จิตเป็นเหมือนกับความว่างซึ่งภายในนั้นไม่มีความสับสนและความไม่ดีต่างๆ ดังจะเห็นได้เมื่อดวงอาทิตย์ผ่านไปในที่ว่างนั้น ย่อมส่องแสงไปได้ทั้งสี่มุมโลก เพราะว่าเมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นย่อมให้ความสว่างทั่วทั้งพื้นโลกความว่างที่แท้จริงนั้นมันก็ไม่ได้สว่างขึ้น และเมื่อดวงอาทิตย์ตกความว่างก็ไม่ได้มืดลง ปรากฏการณ์ของความสว่างและความมืดย่อมสับเปลี่ยนซึ่งกันและกัน แต่ธรรมชาติของความว่างนั้นยังคงไม่เปลี่ยนแปลงอยู่นั่นเอง จิตของพุทธะและของสัตว์โลกทั้งหลายก็เป็นเช่นนั้น ถ้าเรามองพุทธะว่าเป็นผู้แสดงออกซึ่งความปรากฏของสิ่งที่บริสุทธิ์ผุดผ่องใสและรู้แจ้งก็ดี หรือมองสัตว์โลกทั้งหลายว่าเป็นผู้แสดงออกซึ่งความปรากฏของสิ่งที่โง่เขลา มืดมนและมีอาการสลบไสลก็ดี ความรู้สกนึกคิดเหล่านี้อันเป็นผลมาจากความยึดมั่นถือมั่นต่อรูปธรรมนั้นจะกันเราไว้เสียซึ่งความรู้อันสูงสุด ถึงแม้เราจะปฏิบัติกันมาตลอดกี่กัปนับไม่ถ้วนประดุจเม็ดทรายในแม่น้ำคงคาแล้วก็ตาม มีแต่จิตหนึ่งเท่านั้นและไม่มีสิ่งอื่นใดแม้แต่อนุภาคเดียวที่จิตจะอิงอาศัยได้เพราะจิตนั้นเองคือพุทธะ เมื่อพวกเราที่เป็นนักศึกษาเรื่องทาง ทางโน้นไม่ลืมตาต่อสิ่งซึ่งเป็นสาระ กล่าวคือ พวกเราจะปิดบังจิตนั้นเสียด้วยความคิดปรุงแต่งของเราเอง พวกเราจะแสวงหาพุทธะนอกตัวเราเอง พวกเรายังคงยึดมั่นถือมั่นต่อรูปธรรมทั้งหลาย ต่อการปฏิบัติเมาบุญต่างๆ และสิ่งอื่นๆ ทำนองนั้นทั้งหมดนี้เป็นอันตราย (กล่าวคือ เราควรทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาด้วยการละด้วยการวาง ไม่ทำด้วยการยึดมั่นถือมั่น และหวังผล เพราะสิ่งเหล่านี้เปรียบเป็นเพียงเสบียงเป็นปัจจัยช่วยเหลือเราเท่านั้น) เนื้อแท้แห่งสิ่งสูงสุดสิ่งนั้นโดยภายในแล้ว ย่อมเหมือนกับไม้หรือหินคือภายในนั้นปราศจากการเคลื่อนไหว และโดยภายนอกแล้วเหมือนกับความว่าง กล่าวคือปราศจากขอบเขตหรือสิ่งกีดขวางใดๆ สิ่งนี้ไม่ใช่เป็นฝ่ายนามธรรมหรือรูปธรรม มันไม่มีที่ตั้งเฉพาะไม่มีรูปร่างและไม่อาจจะหายไปได้เลย จิตนี้ไม่ใช่จิตซึ่งเป็นความคิดปรุงแต่ง มันเป็นสิ่งซึ่งอยู่ต่างหากปราศจากการเกี่ยวข้องกับรูปธรรมโดยสิ้นเชิง ฉะนั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลายและสัตว์โลกทั้งปวงก็เช่นนั้น พวกเราเพียงแต่สามารถปลดเปลื้องตนเองออกจากความคิดปรุงแต่งเท่านั้น พวกเราจะประสบความสำเร็จทุกอย่าง หลักธรรมที่แท้จริงก็คือจิตนั่นเอง ซึ่งถ้านอกไปจากนั้นแล้วก็ไม่มีหลักธรรมใดๆ จิตนั่นแหละคือหลักธรรมซึ่งถ้านอกไปจากนั้นแล้วมันก็ไม่ใช่จิต จิตนั้นโดยตัวมันเองก็ไม่ใช่จิต การที่กล่าวว่าจิตนั้นไม่ใช่จิตดังนี้นั่นแหละย่อมหมายถึงสิ่งบางสิ่งซึ่งมีอยู่จริง สิ่งนี้มันอยู่เหนือคำพูด จิตนี้คือพุทธโยนิอันบริสุทธิ์ซึ่งมีประจำอยู่แล้วในคนทุกคน สัตว์ซึ่งมีความรู้สึกนึกคิดกระดุกกระดิกได้ทั้งหมดก็ดี พระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระโพธิสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นของธรรมชาติอันหนึ่งนี้เท่านั้นและไม่แตกต่างกันเลย ความแตกต่างทั้งหลายเกิดขึ้นจากเราคิดผิดๆ เท่านั้น ย่อมนำไปสู่การก่อสร้างกรรมทั้งหลายทั้งปวงทุกชนิดไม่หยุด ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะดั้งเดิมของเรานั้น โดยความจริงอันสูงสุดแล้วเป็นสิ่งที่ไม่มีความหมายแห่งความเป็นตัวตนแม้สักปรมาณูเดียว สิ่งนั้นคือความว่างเป็นสิ่งที่มีอยู่ในทุกหนแห่ง สงบเงียบและไม่มีอะไรเจือปน มันเป็นสันติสุขที่รุ่งเรืองและเร้นลับ และก็หมดกันเพียงเท่านั้นเอง จิตคือพุทธะ (สิ่งสูงสุด) มันย่อมรวมทุกสิ่งเข้าไว้ในตัวมันทั้งหมด นับตั้งแต่พระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้แล้วทั้งหลายเป็นที่สุดในเบื้องสูง ลงไปจนกระทั่งถึงสัตว์ประเภทต่ำต้อยที่สุด ซึ่งเป็นสัตว์เลื้อยคลานและแมลงต่างๆ เป็นที่สุดในเบื้องต่ำ สิ่งเหล่านี้ทุกสิ่งมันย่อมมีส่วนแห่งความเป็นพุทธะเท่ากันหมด และทุกๆ สิ่งมีเนื้อหาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพุทธะอยู่ตลอดเวลา ถ้าพวกเราเพียงแต่สามารถทำความเข้าใจในจิตของเราเองนี้ได้สำเร็จ แล้วคนพบธรรมชาติอันแท้จริงของเราเองได้ด้วยความเข้าใจอันนั้นเท่านั้น มันก็จะเป็นที่แน่นอนว่า ไม่มีอะไรที่พวกเราจำเป็นที่จะต้องแสวงหาแม้แต่อย่างใดเลย พระพุทธเจ้าทั้งปวงและสัตว์โลกทั้งสิ้นไม่ได้เป็นอะไรเลย นอกจากเป็นเพียงจิตหนึ่ง นอกจากจิตหนึ่งแล้วมิได้มีอะไรตั้งอยู่เลย จิตหนึ่งซึ่งปราศจากการตั้งต้นนี้เป็นสิ่งที่มิได้เกิดขึ้นและไม่อาจถูกทำลายได้เลย ทั้งนี้เพราะมันอยู่เหนือขอบเขต เหนือการวัด เหนือการตั้งชื่อ เหนือการทิ้งร่องรอยไว้ และเหนือการเปรียบเทียบทั้งหมด จิตหนึ่งนี้เป็นสิ่งที่เราเห็นตำตาแท้ๆ แต่จงลองไปใช้เหตุผลกับมันดูซิ เราจะหล่นไปสู่ความผิดพลาดทันที สิ่งนี้เป็นเหมือนกับความว่างอันปราศจากขอบทุกๆ ด้านซึ่งไม่อาจหยั่งหรือวัดได้ การหยุดคิดหยุดนึกหยุดกริยาแห่งจิตหมายถึงการหยุดสังสารวัฏนั่นเอง เพราะไม่ว่าเราจะกำหนดจิตคิดสิ่งใดๆ สิ่งนั้นๆ ก็ยังเป็นสิ่งภายนอกอยู่ดี เป็นของปรุงแต่งขึ้นมาในโลก การกำหนดรู้ก็ย่อมมีสิ่งที่ถูกกำหนดรู้เป็นธรรมดา จะเป็นรูปก็ตามเป็นนามก็ตาม เมื่อสิ่งนั้นถูกกำหนดรู้ได้ก็ย่อมจะมีสภาวะ เมื่อมีสภาวะก็ย่อมมีอันเสื่อมไปเป็นธรรมดา เพราะเป็นของปรุงแต่งจากเหตุปัจจัยทั้งสิ้น “จิตที่ส่งออกนอกเพื่อรับสนองอารมณ์ทั้งสิ้นเป็นสมุทัย ผลของจิตที่ส่งออกนอกนั้นเป็นทุกข์ จิตเห็นจิตเป็นมรรค ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิตเป็นนิโรธ”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น