วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ฝึกสมาธิใช้อานาปานสติ

      ฝึกสมาธิใช้อานาปานสติ "ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ภิกษุที่เจริญอานาปานสติแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมบำเพ็ญสติปัฏฐาน 4 ให้บริบูรณ์ได้ ภิกษุที่เจริญสติปัฏฐาน 4 แล้ว ทำให้มากแล้วย่อมบำเพ็ญโพชฌงค์ 7 ให้บริบูรณ์ได้ ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ 7 แล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมบำเพ็ญวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้ ฯ" สมถกรรมฐานเป็นวิธีปฏิบัติเพื่อให้จิตใจสงบ เป็นสมาธิ ระงบนิวรณ์ซึ่งเป็นตัวขัดขวางจิตไม่ให้บรรลุซึ่งความดีได้ โดยยึดอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งก็มีหลายหลายวิธี เช่นโดยการเพ่งกสิน โดยวิธีจับลมหายใจหรือ ที่เรียกว่าอานาปานสติ ยุบหนอก็เป็นอานาปานสติด้วยเช่นกัน สมาธิเป็นเสมือนกำลังในการทำวิปัสสนากรรมฐาน การทรงสติให้ได้รวดเร็วนั้น ล้วนอาศัยสมาธิที่เข้มแข็ง เมื่อหวังความหลุดพ้น การปฏิบัติจะขาดอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้ อานาปานสติ ที่ข้าพเจ้าจะกล่าวต่อไปนี้เป็นแนวทางการฝึกสมาธิที่ข้าพเจ้าปฏิบัติมานับสิบปี นั้นก็คืออานาปานสติ อานะ คือลมหายใจที่เข้าข้างใน อปานะ คือลมหายใจที่ออกไปข้างนอก การรับรู้ลมหายใจที่เข้ามาและลมหายใจที่ออกไปนี้ เป็นอนุสติ ความระลึกได้และความระลึกชอบ วิธีฝึกอานาปานสติ เป็นข้อปฏิบัติที่นำไปสู่ความรู้ชัดซึ่งความไม่เที่ยง โดยอาศัยการใส่ใจถึงลมหายใจเข้าและลมหายใจออก เรียกว่า ความรู้เกี่ยวกับความยาวและความสั้น วิธีปฏิบัติ โดยวิธีจับลมหายใจ 3 ฐาน คือ ปลายจมูก หรือเหนือริมฝีปาก อก เหนือสะดือสองนิ้ว(ศูนย์กลางกาย) สำหรับนักปฏิบัติใหม่ ถ้ามุ่งจับทั้งสามฐานนั้นค่อนข้างจะยาก จะเกิดเป็นความตั้งใจเกินไป จนจิตไม่สงบได้ โดยปกติเมื่อเราปฏิบัติได้ฌาน 1 เราจะสามารถจับลมหายใจได้สองฐานโดยอัตโนมัติ และเมื่อเราปฏิบัติได้ฌาน 2 เราจะสามารถจับทั้งสามฐานได้อย่างชัดเจน ผมแนะนำว่าผู้ฝึกใหม่ควรเริ่มต้นจับฐานที่ 3 ก่อน การเตรียมความพร้อม ถือศีลห้า สมาธินั้นอาศัยศีลเป็นพื้นฐาน สำหรับท่านที่สนใจจะฝึกอย่างน้อยก็ให้ถือศีลห้า เพราะการประพฤติผิดศีลนั้น ทำให้นิวรณ์เข้าครอบงำจิต ทำให้เกิดตัวฟุ้งได้ ท่านั่ง นั่งท่าใดก็ได้ที่ถนัด ให้นั่งได้นานไม่เมื่อย ถ้านั่งมาตรฐานคือ นั่งขัดสมาด เท้าขวาทับเท้าซ้าย มือขวาทับมือซ้าย นิ้วหัวแม่มือข้างซ้ายจรดนิ้วชี้มือขวา ปิดเปลือกตาเบา อย่ากดเปลือกตา ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วน ให้อยู่ในอารมณ์สบายๆ ระลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ครูบาอาจารย์ ระลึกถึงบุญกุศลที่เราได้สั่งสมมา แล้วแผ่เมตตาให้กับสรรพสัตว์ทั้งหลาย มารู้จักฐานทั้งสาม เมื่อเราสูดลามหายใจเข้า ลมหายใจสัมผัสที่ปลายจมูก(ฐานที่1) ผ่านอก(ฐานที่2) และลงไปที่ตำแหน่งเหนือสะดือสองนิ้ว(ที่ศูนย์กลางกาย)(ฐานที่3) เมื่อหายใจออก ลมหายใจสัมผัสฐานที่ 2 ก็รู้ ฐานที่ 1 ก็รู้ ***ผมให้ความสำคัญกับตำแหน่งที่สามนี้เป็นอย่างมาก สำหรับผมถือว่าเป็นตำแหน่งที่ตั้งของจิต คำภาวนา ใช้คำภาวนาใดๆก็ได้ จะเป็น พุท โธ,สัมมาอาระหัง หรือ ยุบหนอก็ได้ ส่วน นะมะพะทะ นั้นสำหรับผู้ที่ต้องการเรื่องฤทธิ์ สามารถนำไปใช้ได้ ***โดยวิธีให้เสียงภาวนานั้น ดังขึ้นภายในท้อง ณ.ตำแหน่งฐานที่ 3 ขั้นตอนปฏิบัติสำหรับผู้ฝึกใหม่ให้เริ่มที่ฐานที่ 3 จังหวะหายใจเข้า ณ.ตำแหน่งที่ 3 ให้รับรู้ถึงลมหายใจเข้า พร้อมภาวนาว่า พุท จังหวะหายใจออก ณ.ตำแหน่งที่3 ก็รู้ว่าลมหายใจออก พร้อมภาวนาว่า โธ ***ในกรณีที่เดินลมหายใจสามฐาน เมื่อลมหายใจผ่านที่ฐานใด ต้องมีสติกำหนดรู้ที่ฐานนั้นๆ หายใจเข้าเราก็รู้ว่ากำลังหายใจเข้า หายใจออก เราก็รู้ว่าหายใจออก ลมหายใจนั้นสั้นก็รู้ ลมหายใจนั้นยาว เราก็รู้ ถ้าผลการปฏิบัติก้าวหน้า คำภาวนาจะหยุดไปเองโดยอัตโนมัติ เหลือเพียงลมหายใจ ถ้ารับรู้ว่าเราไม่หายใจก็อย่าตกใจ นั้นเป็นสภาวะที่จิตแยกจากร่าง จิตจึงไม่รับรู้อาการของกาย ถ้าถึงขั้นนี้ ฌาน 4 ก็อยู่ไม่ไกล ข้อควรระวังและเทคนิค ไม่ควรหายใจยาวหรือสั้นมากเกินไป จะเป็นเหตุให้จิตฟุ้งซ่าน ถ้าเกิดภาพนิมิต ให้สักแต่ว่าเห็น อย่าไปสนใจ เพ่งหรือ ดู จะเกิดเป็นอุปทานได้ มารสามารถเข้าแทรกได้ หรือให้พิจารณาว่ามันไม่เที่ยง มันเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ถ้าถอนออกจากสมาธิไม่ได้ ให้ใช้วิธีนับถอยหลัง เช่น เมื่อนับสิบลงไปเรื่อยๆจนถึงศูนย์แล้วให้ออกจากสมาธิ หรือในคราวต่อไปให้ตั้งเวลาไว้ก่อนนั่งสมาธิว่า จะนั่งกี่นาที เมื่อถึงเวลาก็จะออกสมาธิได้เอง ลมหายใจที่เข้าออก ที่ตำแหน่งฐานที่ 3 ถ้าเราไปจับไว้เน้น หรือเพ่งมาก จะกลายเป็นฟุ้ง แต่ถ้าเราจับลมหายใจเบาไป ก็จะเกิดอาการหลับ ต้องจับลมหายใจเข้าและออก ตรงนั้นเพียงเบาๆ เหมือนปุยนุ่น แต่อย่างให้ล่องลอย นานเท่าไหร่ยิ่งดี ในสภาวะเช่นนั้น เราจะไม่คิดเรื่องอื่นใดเลย อย่าตกใจกับอาการปีติทั้งหลาย เช่น ตัวโยกโคลง ตัวลอย น้ำตาไหล ขนลุก อย่าไปยึดติดกับสิ่งที่เกิด ให้เห็นว่าเป็นเพียงเรื่องธรรมดา ไม่เที่ยง ไม่นานอาการเหล่านั้นก็จะหายไปเอง ถ้าเกิดแสงสว่างระยิบระยับสวยงาม แต่ไม่แสบตา ให้ดูเฉยๆ อย่าพยายามเพ่ง เช่นเดียวกับการเกิดภาพนิมิต ข้อปฏิบัติโดยอนาปานสติ ทำให้ผู้ปฏิบัติบรรลุถึงสภาวะที่ประกอบด้วยวิตก ,วิจารณ์ การรู้ปีติ เป็นสภาวะแห่งทุติยฌาน การรู้สุขเป็นสภาวะแห่งตติยฌาน การรู้จิตเป็นสภาวะแห่งจตุตถฌาน สติปัฏฐาน 4 สติปัฏฐานเมื่อเริ่มกำหนดลมหายใจเข้ายาวและลมหายใจออกยาว นั้นคือ กายานุปัสสนา สติปัฏฐานที่เริ่มจากการรู้ปีติ คือ เวทนานุปัสสนา สติปัฏฐานที่เริ่มจากการรู้จิตคือ จิตตานุปัสสนา สติปัฏฐานที่เริ่มการเห็นความไม่เที่ยง คือ ธัมมานุปัสสนา ดังนั้นบุคคลผู้บำเพ็ญอานาปานติ ได้ชื่อว่าทำ สติปัฏฐาน 4 ให้บริบูรณ์ สัมโพชฌงค์ 7 บุคคลใดบำเพ็ญสติปัฏฐาน 4 บุคคลนั้นย่อมอยู่อย่างมีสติไม่หลงลืม เรียกว่าสติสัมโพชฌงค์ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ พิจารณาทุกขังอนิจจังและปรากฏการณ์ทั้งหลาย นั้นเรียกว่าธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ เมื่อได้สอบสวนธรรมเหล่านั้น เพียรพยายามโดยไม่ย่อหย่อน นั้นเรียกว่า วิริยสัมโพชฌงค์ เมื่อได้เพิ่มความเพียร ทำปีติที่บริสุทธิ์ให้เกิดขึ้น นั้นเรียกว่า ปีติสัมโพฌชงค์ เพราะจิตประกอบด้วยปิติ กายและจิตย่อมประกอบด้วยความสงบ เรียกว่า ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ เพราะมีความสงบ กายของเราย่อมได้รับความสบาย และจิตของเราประกอบด้วยสมาธิ นั้นเรียกว่า สมาธิสัมโพชฌงค์ เพราะมีสมาธิ จิตย่อมบรรลุความเป็นกลาง นั้นเรียกว่า อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ดังนั้นบุคคลใดปฏิบัติสติปัฏฐาน 4 ได้ชื่อว่าทำโพชฌงค์ 7 ให้บริบูรณ์ วิมุตติและวิชชา บุคคลใดบำเพ็ญแล้วโดยการปฏิบัติโพชฌงค์ 7 ให้มาก ย่อมได้วิชชาและวิมุตติคือมรรคและผล อานาปานสติกรรมฐาน มีอานิสงส์ สามารถตัดเสียซึ่งวิตก มีกามวิตก เป็นต้น เพราะเป็นธรรมอันละเอียดและประณีต เป็นธรรมเครื่องพักอยู่อันละมุนละไมและเป็นสุข เจริญให้มากทำให้มากแล้ว ย่อมยังสติปัฏฐาน 4 ให้บริบูรณ์ เมื่อสติปัฎฐาน 4 อันบุคคลเจริญให้มากทำให้มากแล้ว ย่อมยังโพชฌงค์ 7 ให้บริบูรณ์ เมื่อบุคคลยังโพชฌงค์ 7 ให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ ผู้ที่สำเร็จอรหัตผล โดยอาศัยการเจริญอานาปานสติกรรมฐานเป็นบาท ย่อมกำหนดรู้ในอายุสังขารของตนว่าจะอยู่ไปได้เท่าไร สามารถรู้กาลเวลาที่จะปรินิพพาน หลับเป็นสุข ไม่ดิ้นรน, ตื่นก็เป็นสุข คือมีใจเบิกบาน, มีร่างกายสงบเรียบร้อย (มีกายไม่โยกโคลง), มีหิริโอตตัปปะ, น่าเลื่อมใส, มีอัธยาศัยประณีต, เป็นที่รักของคนทั้งหลาย ถ้ายังไม่ได้สำเร็จมรรค ผล นิพพาน เมื่อธาตุขันธ์แตกดับลงก็มีสุคติโลกสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น