วันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558

คุณสมบัติของพ่อค้า ตามพุทธดำรัส

คุณสมบัติของพ่อค้า ตามพุทธดำรัส พระพุทธเจ้าได้ตรัสคุณสมบัติของพ่อค้าที่ประสบความเจริญรุ่งเรืองไว้ ๓ ประการ พุทธศาสนามีส่วนเกี่ยวข้องกับพ่อค้าตั้งแต่หลังจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ โดยกล่าวว่า ในสัปดาห์หนึ่งหลังจากตรัสรู้ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จออกจากบริเวณไม้มุจลินท์ไปยังไม้เกด ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขที่นั่น พาณิชสองพี่น้อง คือ ตปุสสะและภัลลิกะ เดินทางมาจากกุกลชนบทได้พบพระพุทธเจ้า ประทับอยู่ภายใต้ไม้เกด จึงได้นำข้าวสัตตุก้องและสัตตุผงเข้าไปถวาย พระองค์ทรงรับเสวย ปรากฏเป็นการเสวยพระกระยาหารมื้อแรกหลังจากตรัสรู้ เป็นต้นมา สองพ่อค้าได้ประกาศตนเป็นอุบาสกถึงสรณะ ๒ คือ พระพุทธ พระธรรม จัดเป็นปฐมอุบาสกคู่แรกที่ถึงสรณะ ๒ ในพุทธกาล แล้วกราบทูลลาหลีกไป... พระพุทธเจ้า ได้ตรัสคุณสมบัติของพ่อค้าที่ประสบความเจริญรุ่งเรืองไว้ ๓ ประการ เรียกว่า ปาปณิกธรรม ปาปณิกธรรม คือหลักพ่อค้า, องค์คุณของพ่อค้า ๓ ประการ คือ ๑.จักขุมา เป็นคนตาดี หมายถึง รู้จักสินค้า ดูของเป็น มีความรู้ในการค้าขาย รู้จักต้นทุน รู้จักกำไร ๒.วิธุโร เป็นคนฉลาด หมายความว่า จัดเจนธุรกิจรู้แหล่งซื้อขาย รู้ความเคลื่อนไหว ความต้องการของตลาด สามารถในการจัดซื้อจัดจำหน่ายรู้ใจและรู้จักเอาใจลูกค้า รู้จักทำเลที่เหมาะสม รู้จักว่าที่ไหนควรขายสิ่งใด ไม่ทอดธุระหน้าที่ของตน ๓.นิสสยสัมปันโน หมายถึง พร้อมด้วยแหล่งทุนเป็นที่อาศัย เป็นที่เชื่อถือไว้วางใจในหมู่แหล่งทุนใหญ่ๆหาเงินมาลงทุนหรือดำเนินกิจการโดยง่าย มีนิสัยเหมาะสมแก่การค้าขาย มีไมตรีจิตมิตรภาพกับลูกค้าทั่วไป มีมิตรสหายมาก รู้จักสร้างความนิยมให้แก่ตนเอง เป็นที่เชื่อถือของคนทั่วไป นอกจากนี้ พระพุทธศาสนายังกล่าวถึงความดีความชั่วที่มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังการประ กอบอาชีพอีกด้วย ซึ่งเป็นเหตุอย่างลึกซึ้งของความเจริญก้าวหน้าและความหายนะ มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งพระสารีบุตร ได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงที่ประทับ แล้วทูลถามว่า ๑.เพราะเหตุใด บางคนทำการค้าขายมีแต่ขาดทุน ๒.เพราะเหตุใด บางคนทำการค้าขายไม่ได้กำไรตามที่ประสงค์ ๓.เพราะเหตุใด บางคนทำการค้าขายได้กำไรตามที่ประสงค์ ๔.เพราะเหตุใด บางคนทำการค้าขายได้กำไรมากกว่าที่ประสงค์ พระพุทธเจ้าตรัสตอบโดยลำดับเป็นข้อ ๆ ดังนี้ คือ ๑.บางคนเข้าไปหาสมณพราหมณ์ กล่าวปวารณาด้วยปัจจัย ๔ แล้วไม่ได้ถวายตาม ที่ตนได้ปวารณาไว้ เมื่อเคลื่อนจากอัตภาพนั้นมาเกิดเป็นมนุษย์ทำการค้าใดๆย่อมขาดทุน ๒.บางคนเข้าไปหาสมณพราหมณ์ แล้วกล่าวปวารณาด้วยปัจจัย ๔ ตามที่ท่านประสงค์ เขาถวายตามที่กล่าวปวารณา แต่ไม่ตรงตามที่ท่านประสงค์ เมื่อเคลื่อนจากอัตภาพนั้น มาเกิดเป็นมนุษย์ ทำการค้าขายใดๆย่อมไม่ได้กำไรตามที่ประสงค์ ๓.บางคนเข้าไปหาสมณพราหมณ์แล้วกล่าวปวารณา ถวายปัจจัย ๔ ตามที่ท่านประสงค์ เมื่อเคลื่อนจากอัตภาพนั้นมาเกิดเป็นมนุษย์ ทำการค้าขายใดๆย่อมได้กำไรตามที่ตนประสงค์ ๔.บางคนเข้าไปหาสมณพราหมณ์แล้วกล่าวปวารณา ถวายปัจจัย ๔ ตามที่ท่านประสงค์ แต่เขาถวายยิ่งกว่าที่ท่านประสงค์ เมื่อเคลื่อนจากอัตภาพนั้นมาเกิดเป็นมนุษย์ ทำการค้าขาดใดๆ ย่อมได้กำไรมากกว่าที่ตนประสงค์ เหล่านี้คือเหตุภูมิหลังของความดีความชั่วที่บุคคลได้ทำไว้ในอดีตและมีอิทธิพลติดตามให้ ผลเมื่อเขาประกอบอาชีพค้าขาย เป็นเหตุให้เป็นพ่อค้าอาภัพ ค้าขายไม่ขึ้นบ้าง เป็นเหตุให้เป็นพ่อค้าที่มีกำไรน้อยบ้างมากบ้างต่างๆกัน เป็นที่น่าสังเกตว่า คนที่ดำเนินชีวิต ด้วยมุสาวาท แม้จะค้าขายได้กำไรในปัจจุบัน แต่เขาจะเป็นคนอาภัพในภายหน้า ส่วนคนที่ซื่อสัตย์ จะเป็นคนโชคดีทั้งปัจจุบันและอนาคต คนทั่วไปขาดเครื่องมือสำรวจตรวจสอบอดีตและอนาคต จึงมองเห็นแต่เรื่องปัจจุบัน ไม่เห็นอิทธิพลของกรรมที่จะปรากฏในอนาคตก็เป็นธรรมดาของคนทั่วไป เช่นเดียวกับชาวบ้านทั่วไปไม่มีกล้องสำหรับดูดาว เห็นได้แต่ดวงดาวในปริมาณจำกัด ส่วนดวงดาวมากมายเหลือคณานับ เป็นเรื่องของนักดาราศาสตร์ที่มีอุปกรณ์สำหรับดูดาว หรือเช่นเดียวจุลินทรย์ต่างๆ ไม่ใช่วิสัยของตาเปล่าที่จะเห็นได้ แต่เป็นวิสัยของกล้องจุลทัศน์ ฉันใดก็ฉันนั้น ดังนั้นพ่อค้าที่เชื่อในเรื่องหลักกรรมจึงถือคติว่า ซื่อกินไม่หมดคตกินไม่นาน การค้าขายที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของสุจริต อุบาสกและอุบาสิกาก็ทำได้ไม่ขัดกับการปฏิบัติ ศีลธรรมแต่อย่างใด การเข้าใจว่าการค้าขายต้องควบคู่กับการพูดปดนั้นเป็นเรื่องของการ เข้าใจผิด จนเป็นเหตุให้อาชีพค้าขายกลายเป็นอาชีพทุจริต ทำให้เข้าใจกันว่าคนสุจริตทำ การค้าขายไม่ได้ ความจริงอาชีพต่างๆที่เกี่ยวข้องกับประชาชนมีมูลฐานมาจากความซื่อสัตย์ สุจริตทั้งสิ้น กิจการเหล่านั้นจึงมีความเจริญก้าวหน้า การค้าขายที่ไม่เหมาะสมกับอุบาสก อุบาสิกานั้น มีอ ๕ อย่างด้วยกันคือ ๑. การค้าขายเครื่องประหาร ๒. การค้าขายมนุษย์ ๓. การค้าขายสัตว์สำหรับฆ่า ๔. การค้าขายน้ำเมา สิ่งเสพติดให้โทษ ๕. การค้าขายยาพิษ เหล่านี่เรียกว่า มิจฉาวณิชชา แปลว่า การค้าขายที่ผิด เป็นการค้าขายที่ไม่ชอบธรรม เป็นอาชีพต้องห้ามสำหรับอุบาสก อุบาสิกา ผู้ปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น